ในปี พ.ศ. 2546 ขณะที่นักวิจัยด้านโลหะพยายามทดลองค้นคว้าโดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของโลหะชนิดต่างๆ นาย Harry Brearley แห่งมหาวิทยาลัย Scheffield ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นคนหนึ่งในนักวิจัยเหล่านั้น ประสบความสำเร็จจากการค้นพบโดยบังเอิญว่า หากเพิ่มธาตุโครเมียม (Chromium) ลงไปในเหล็กกล้ามากกว่า 12% เหล็กกล้าต้านทานการกัดกร่อนของกรดเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งต่อมาเรียกเหล็กที่เพิ่มโครเมียมนี้ว่า เหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless steel)  หรือเรียกสั้นๆ ว่าสเตนเลส การค้นพบในครั้งนั้นของเขานับเป็นรากฐานของการพัฒนาเหล็กกล้าต่างๆ ที่ทนต่อการกัดกร่อนในเวลาต่อมา หลังจากนั้นอีก 7 ปี มีการคิดค้นสเตนเลส 2 ชนิด ซึ่งภายหลังถูกนำมาใช้กันมากที่สุดในเวลานั้น คือ เกรดมาร์เทนซิติค และเกรดออสเทนนิติค
 
ในระยะแรกๆ สเตนเลสมีราคาแพงมาก การนำไปใช้จึงจำกัดอยู่แค่อุตสาหกรรมเคมี และกิจการทางการทหารเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน สเตนเลส เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องเรือน  เครื่องมือแพทย์ โทรศัพท์มือถือ ตึกรามบ้านช่อง เป็นต้น
 
 

“สเตนเลส” หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “เหล็กกล้าไร้สนิม” เป็นศัพท์ทั่วไปที่ใช้เรียกเหล็กในกลุ่มที่มีความต้านทานการกัดกร่อนสูง สเตนเลสเป็นโลหะผสมระหว่างเหล็กและคาร์บอน  ซึ่งส่วนประกอบจะมีปริมาณคาร์บอนต่ำ มีโครเมียมเป็นส่วนผสมหลักประมาณ 10.5 % หรือมากกว่าทำให้เกิดการสร้างฟิล์มโครเมียมออกไซด์ (chromium oxide film : CrO2 หรือเรียกว่า passive film) ที่มองไม่เห็นเกาะติดแน่นอยู่ที่ผิวหน้า

ทำให้เหล็กกล้ามีความต้านทานการกัดกร่อน ฟิล์มปกป้องนี้จะมีความบางเทียบเท่ากับวางกระดาษ 1 แผ่น บนตึกสูง 20 ชั้น ถ้าฟิล์มที่ผิวหน้านั้น ถูกทำลายไม่ว่าจากแรงกล สารเคมีหรือออกซิเจนที่มีอยู่ในบรรยากาศ แม้จำนวนน้อยนิดจะเข้าทำปฏิกิริยากับโครเมียม สร้างฟิล์มโครเมียมออกไซด์ทดแทนขึ้นใหม่ด้วยตัวมันเอง

ปัจจุบันสเตนเลสมีอยู่มากกว่า 60 ชนิด ทั้งนี้เนื่องจากสเตนเลสสามารถปรับปรุงคุณสมบัติในการต้านทานการกัดกร่อนและคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ต้องการให้สูงขึ้นได้ โดยการเพิ่มส่วนผสมของโครเมียมและเพิ่มธาตุอื่น ๆ เช่น โมลิบดิบนัม นิกเกิล และไนโตรเจนเข้าไป

ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เหมือนใคร เช่น ยากต่อการขึ้นสนิมเมื่อเทียบกับโลหะหรือวัสดุอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ ง่ายต่อการเชื่อมและการขึ้นรูป ระยะเวลาการใช้งานคุ้มค่ากับราคา และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด จึงทำให้สเตนเลสเป็นโลหะที่ทรงคุณค่า คุณสมบัติและประโยชน์ที่ไร้ขีดจำกัด

 

คนทั่วไปมักจะสับสนหรือเข้าใจเหมารวมว่าสเตนเลสก็คือเหล็ก แต่ในความเป็นจริง สเตนเลสมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากเหล็กมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากธาตุโลหะที่ผสมอยู่ในสเตนเลส ทั้งนี้เพราะเหล็กกล้าทุกชนิด คือ โลหะผสมระหว่างเหล็กและคาร์บอน ส่วนเหล็กกล้าพิเศษ (รวมถึงสเตนเลส) คือโลหะผสมระหว่างเหล็กและธาตุอื่น ๆ เช่น เพิ่มคาร์บอน นิกเกิล แมงกานีส โมลิบดิบนัม เป็นต้น ส่วนเสตนเลสคือโลหะผสมระหว่างเหล็กที่มีโครเมียมเป็นส่วมผสมหลัก และมีคาร์บอนผสมอยู่ต่ำ และเติมธาตุอื่น ๆ เพื่อจะปรับปรุงให้คุณสมบัติด้านใดสูงขึ้น เช่น เพิ่มความต้านทานการกัดกร่อน เพิ่มคุณสมบัติเชิงกล คุณสมบัติทางกายภาพ และคุณสมบัติในด้านการสร้าง การขึ้นรูป หรือการประกอบ เรามาลองทำความเข้าใจคร่าวๆ เกี่ยวกับส่วนผสมพื้นฐานของสเตนเลสดูว่าแตกต่างจากเหล็กธรรมดาอย่างไร

โครเมียม (Chromium : Cr)

  โครเมียมที่ผสมในเนื้อเหล็กจะรวมตัวกับออกซิเจน เกิดเป็นฟิล์มของโครเมียมออกไซด์เคลือบอยู่ที่ผิวของสเตนเลส ป้องกันการผุกร่อน ปริมาณของโครเมียมที่เป็นส่วนผสมจะมีผลต่อความหนาของการสร้างฟิล์มป้องกันการกัดกร่อน

นิกเกิล (Nickel : Ni)

  ถ้าผสมธาตุนิกเกิลลงในสเตนเลสด้วยปริมาณที่พอเพียงจะทำให้มีโครงสร้างผลึกเป็นออสเทนไนท์ทั้งหมด เช่น เกรด 304 (โครเมียม 18%, นิกเกิล 8%) ถ้าปริมาณส่วนผสมของธาตุนิกเกิลต่ำกว่านี้ก็จะไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นโครงสร้างออสเทนไนท์อย่าง

สมบูรณ์ได้ เป็นผลทำให้เกิดโครงสร้างดูเพล็กซ์ผสมกันระหว่างโครงสร้างเฟอร์ไรท์และออสเทนไนท์ เป็นสเตนเลสเกรดดูเพล็กซ์

โมลิบดิบนัม (Molybdenum : Mo)

  การเพิ่มโมลิบดิบนัมทำให้สเตนเลสสามารถสร้างฟิล์มป้องกันการกัดกร่อนดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้านทานการกัดกร่อนแบบเป็นจุดเล็กๆ ในแนวลึก หรือเป็นรู หรือสนิมขุม รวมทั้งการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นภายในซอก หรือรอยซ้อน หรือภายใต้กองตะกอน หรือใน

พื้นที่อับและมีน้ำหรือสารละลายมีฤทธิ์กัดกร่อนขังอยู่ ปริมาณส่วนผสมของโมลิบดิบนัมที่สูงสามารถที่จะต้านทานการกัดกร่อนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มโมลิบดิบนัมยังเพิ่มความสามารถในการใช้งานในที่ที่มีอุณหภูมิสูงมาก

แมงกานีส (Manganese : Mn)

  แมงกานีสมีคุณสมบัติช่วยให้ลดความเสี่ยงในการเกิดการแตกจากความร้อนขณะเชื่อม

ไททาเนียม (Titanium : Ti)

  เป็นธาตุผสมที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการดัดขณะเชื่อมและยังเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อนตามขอบเกรนของพื้นผิวบริเวณที่ได้รับการเชื่อม
 

เมื่อเราทราบถึงข้อดีของสเตนเลสแล้ว และอาจเลือกใช้สเตนเลส แต่ไม่ทราบว่าสเตนเลสมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร เราจึงควรรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสเตนเลสเพิ่มเติม

โดยทั่วไปสเตนเลสแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ คือ ออสเทนนิติค เฟอร์ริติค ดูเพล็กซ์ มาร์เทนซิติค และเหล็กกล้าชุบแข็งแบบตกผลึก

1. เกรดออสเทนนิติค
สเตนเลสเกรดออสเทนนิติคมีส่วนผสมพื้นฐานที่สำคัญคือ โครเมียม 18% นิกเกิล 8% หากต้องการจะเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อนสูงขึ้นต้องเพิ่มส่วนผสมของธาตุโมลิบดิบนัม 2% - 3% มีส่วนผสมของธาตุคาร์บอนปริมาณต่ำมาก สูงสุดไม่เกิน 0.08%

เกรดออสเทนนิติคนาตามมาตรฐานทั่วไป ได้แก่ชนิด 304, 304L, 321, 316, 316Ti, 317L, CF3M, CF8M, NO8904 และ S31254

คุณสมบัติ
ต้านทานการกัดกร่อนดีเยี่ยม
ใช้งานประกอบและขึ้นรูปที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด และสุขอนามัยดีเลิศ
สะดวกในงานสร้าง ประกอบหรือขึ้นรูปทั่วไปได้ดีมาก
ความแข็งแรงสูงสุดและมีความยืดตัวสูง
ไม่ดูดแม่เหล็ก
สามารถใช้ในงานเย็นจัดและร้อนจัด ที่อุณหภูมิประมาณ 600°c หรือสูงกว่านี้

การใช้งานทั่วไป
สเตนเลสเกรดออสเทนนิติคสามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวางทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องครัว เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า งานตกแต่งอาคาร งานสถาปัตกรรม โรงงานฆ่าสัตว์ การผลิตเบียร์ หรือการผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร ที่มีสมบัติต้านทานที่เกี่ยวข้องกับความสะอาดและสุขอนามัย เช่น เครื่องมือในโรงพยาบาล เวชภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ สเตนเลสเกรดออสเทนนิติคยังสามารถนำไปใช้งานที่อุณหภูมิต่ำติดลบ สำหรับถังเก็บแก๊สเหลว และสามารถใช้ในงานที่อุณหภูมิสูง เช่น ทำท่อแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ความร้อน ทำอุปกรณ์ควบคุมหรือกำจัดมลภาวะ และควันพิษ งานท่อ ถังเก็บภาชนะที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมและภาชนะความดันที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อุตสาหกรรมเหมืองแร่ การผลิตเนื้อเยื้อกระดาษและกระดาษ อุปกรณ์ในตู้โดยสารรถไฟ รถเข็นอาหาร เป็นต้น

2. เกรดเฟอร์ริติค
สเตนเลสเกรดนี้ไม่มีส่วนผสมของธาตุนิกเกิล มีปริมาณธาตุโครเมียมผสมอยู่ตั้งแต่ 12% ถึง 18% ซึ่งมากกว่าปริมาณผสมของธาตุคาร์บอน

เกรดตามมาตรฐานทั่วไปได้แก่ 430 และ 409 เกรดที่สามารถรับการเชื่อมได้จะมีปริมาณโครเมียมผสมอยู่ 12% หากเป็นเกรดมาร์เทนซิติคชนิดพิเศษซึ่งทนความร้อนได้ดีเยี่ยมจะมีปริมาณโครเมียมผสมอยู่สูงถึง 26%

คุณสมบัติ
ต้านทานการกัดกร่อนปานกลางถึงดี
ต้านทานการกัดกร่อนแบบเป็นจุด และแบบมุมอับในซอกแคบๆ ได้ดี และมีความต้านทานการกัดกร่อนใต้แรงเค้นดีกว่าเกรดออสเทนนิติค
แม่เหล็กดูดติด
ไม่สามารถชุบแข็งได้
มีข้อจำกัดในการเชื่อม การขึ้นรูป เช่น ดัด ดึงขึ้นรูป มากกว่าเกรดออสเทนนิติค
มีความต้นทานการเกิดออกซิไดซ์ที่อุณหภูมิสูงถึง 850 °C

การใช้งานทั่วไป
สแตนเลสเกรดเฟอร์ริติคเป็นเกรดที่นิยมใช้มากที่สุดในงานอุปกรณ์ตกแต่งในอาคาร เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ช้อนส้อม มีด และเครื่องใช้ในครัว อ่างล้าง อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน งานสถาปัตยกรรม เครื่องถ่ายความร้อนในกระบวนการผลิตและอุปกรณ์เครื่องใช้ในการผลิตอาหารนม แกน และถังปั่นในเครื่องซักผ้า และเครื่องล้างจาน นอกจากนี้สามารถนำไปใช้ในงานเรือเดินสมุทร ทำแผ่นดาดฟ้าเรือ ฝายน้ำล้น โซ่ในงานขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์ดูดฝุ่นและควัน เป็นต้น

3. เกรดมาร์เทนซิติค
เป็นสแตนเลสที่มีส่วนประกอบของโครเมียมสูงชนิดแรกที่ได้รับการพัฒนาเพื่อการใช้ในงานอุตสาหกรรม มีส่วนผสมของธาตุคาร์บอน โครเมียม 13% ถึง 18%

เกรดตามมาตรฐานทั่วไปได้แก่ 410, 420, 431 และ CA-6NM

คุณสมบัติ
ความต้านทานการกัดกร่อนปานกลาง
แม่เหล็กดูดติด
สามารถทำให้แข็งได้ด้วยกรรมวิธีทางความร้อนดังนั้นจึงสามารถพัฒนาปรับปรุงให้มีความแข็งแรงสูงและปรับระดับความแข็งได้
มีข้อจำกัดในการเชื่อม เนื่องจากมีปริมาณคาร์บอนสูง และมีความแข็งโดยธรรมชาติในตัวเอง
ใช้งานในอุหภูมิสูงได้ดีถึง 593 องศาเซลเซียส

4. เกรดดูเพล็กซ์
สแตนเลสเกรดดูเพล็กซ์ซึ่งโครงสร้างผสมระหว่างเฟอร์ไรท์และออสเทนไนท์มีส่วนผสมของโครเมียมระหว่าง 18% ถึง 28% ส่วนผสมของธาตุนิกเกิลระหว่าง 4.5% ถึง 8% เกรดที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มเกรดดูเพล็กซ์นี้มีส่วนผสมของธาตุโมลิบดิบนัม 2.5 % ถึง 4% และเพิ่มส่วนผสมของธาตุไนโตรเจน เพื่อเพิ่มความทนทานและเพิ่มความต้านทานการกัดกร่อนแบบจุด

คุณสมบัติ
การที่โครงสร้างผสมระหว่างเฟอร์ริติคและออสเทนนิติค ทำให้สามารถต้านทานการแตกร้าวจากการกัดกร่อนด้วยแรงเค้นสูงและการกัดกร่อนเป็นรู
ทนต่อสารคลอไรด์ทำให้ใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดหรือด่างสูงได้
ต้านทานการกัดกร่อนได้ดี เนื่องจากมีส่วนผสมของโครเมียมสูงและเพิ่มส่วนผสมของธาตุโมลิบดิบนัม ไนโตรเจน
ใช้ในงานเชื่อมและขึ้นรูปได้ดีเช่น งานปั๊มก้นลึก
เนื่องจากมีสมบัติเชิงกลดีเลิศในการใช้งานที่อุณหภูมิติดลบได้ถึง -225°C หรือใช้งานที่อุณหภูมิสูงถึง 1100 °C

การใช้งานทั่วไป
นำไปใช้ในการทำแผงและท่ออุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน อุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุ ถังเก็บ และถังความดันในบรรยากาศแวดล้อมของคลอไรด์ที่มีความเข้มข้นสูง ตัวอย่างงานได้แก่ อุปกรณ์หล่อเย็นด้วยน้ำทะเล การกลั่นน้ำทะเลให้บริโภคได้ อุตสาหกรรมหมักดอง เหมืองฉีดน้ำ อุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส และยังสามารถใช้ในงานที่เกี่ยวกับสุขอนามัยและความสะอาดได้ดี

อย่างไรก็ตามนอกจากสแตนเลสเกรดหลัก ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ปัจจุบันยังมีเกรดอื่น ๆ ที่พบได้ตามท้องตลาด เนื่องจากธนตุนิกเกิลมีราคาแพง จึงมีผู้ผลิตหรือโรงงานที่ผลิตวัตถุดิบสแนเลสหาทางลดต้นทุนโดยการหาธาตุอื่นที่ถูกกว่า เช่น แมงกานีส ซึ่งทำให้สแตนเลสมีโครงสร้างที่สามารถยืดตัวได้ดีพอสมควร นอกจากนั้นธาตุแมงกานีสยังทำให้แม่เหล็กดูดไม่ติด และสามารถขึ้นรูปเป็นภาชนะหรือเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น หม้อ ช้อน ได้อีกด้วย ผบิตภัณฑ์จากสแตนเลสเกรดนี้จะราคาถูกกว่าเกรดอื่น ๆ

แต่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคต้องระมัดระวังเวลาซื้อ ทั้งนี้เพราะหากจะทดสอบง่าย ๆ โดยใช้แม่เหล็กไปลองทดสอบ จะพบว่าแม่เหล็กดูดไม่ค่อยติด ขอแนะนำว่าไม่ควรนำไปใช้ในอุปกรณ์เกี่ยวกับอาหารดำราพธาตุแมงกานีสซึ่งนอกจากไม่ได้ฃ่วยเพิ่มความต้นทานการกัดกร่อนเท่าธาตุนิกเกิลแล้ว ยังมีความปลอดภัยน้อยกว่า หากใช้สแตนเลสเกรดนี้ไปนาน ๆ จะพบว่าผิวจะออกสีเหลือง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีสแตนเลสที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกลุ่มออสเทนนิติคมีธาตุนิกเกิลผสมอยู่ แต่มีในปริมาณน้อยกว่าเกรดออสเทนนิติค ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีธาตุแมงกานีสสูง จะมีความต้านทานการกัดกร่อนใกล้เคียงกับสแตนเลสออสเทนนิติค

หากผู้ใช้ ผู้ประกอบการหรือผู้บิรโภคจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สแตนเลสขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาพิจารณาสักนิดจะได้ทราบว่าสแตนเลสที่เราซื้อนั้นเป็นเกรดอื่นที่นำมาย้อมแมวแล้วขายในราคาสูง หรือว่า หากท่านซื้อในราคาถูก พึงระลึกว่าสแตนเลสมีหลายกลุ่ม หลายเกรด ท่านจะได้เลือกใช้ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการหรือวัตถุปราสงค์ของท่าน

เมื่อทราบถึงประเภท คุณสมบัติและการนำไปใช้งานของเกรดสแตนเลสต่าง ๆ กันแล้ว การจะเลือกเกรดใดไปใช้งาน ควรจะทราบว่าพื้นที่ที่จะนำสแตนเลสเกรดนั้น ๆ ไปใช้ เหมาะสมหรือไม่

พื้นที่ชนบท หมายถึง พื้นที่ที่มีมลภาวะทางเคมีในปริมาณน้อย จะมีแต่ความชื้น ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมลภาวะหลัก ซึ่งรวมถึงต่างจังหวัด ยกเว้นจังหวัดที่อยู่ใกล้ชายทะเล หรือจังหวะดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมาก
พื้นที่ในเมือง หมายถึง พื้นที่ที่มีมลพิษ แบะควันพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือตามเมืองใหญ่ ๆ
พื้นที่เขตอุตสาหกรรม หมายถึง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหนัก สภาพบรรยากาศส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ เช่นนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ
พื้นที่ติดทะเล หมายถึง พื้นที่ที่เป็นเขตที่มีเกลือทะเล (คลอไรด์) และไอของความเค็มจากทะเลจะพัดมาติดบนพื้นผิวสเตนเลส เช่น ชลบุรี พัทยา ระยอง หัวหิน สมุย เป็นต้น

 

ระบบกำหนดชื่อตามมาตรฐาน

บางครั้งผู้ใช้หรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สเตนเลสที่ต้องการจะซื้อสเตนเลส อาจเกิดความสับสนกับการเรียกชื่อเกรดต่าง ๆ ของสเตนเลสของพนักงานขาย หรือบริษัทที่เราเข้าไปติดต่อ ว่าเกรดที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่เกรดที่คนขายเรียก ทั้งนี้เพราะการเรียกเกรดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาว่าสเตนเลสที่ผลิตในประเทศไทย หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น 18/8 หรือ 18/10 ซึ่งเป็นชื่อเทคนิคที่ใช้เรียกอธิบายสเตนเลสชนิด 304 หรือเกรดเทียบเท่าว่ามีส่วนผสมของโครเมียมอยู่ 18% และมีนิกเกิลผสมอยู่ 8% และ 10% ตามลำดับ เป็นต้น

ในประเทศไทยและทั่วโลกจะใช้ระบบ AISI ซึ่งกำหนดชื่อเรียกสเตนเลสเป็นตัวเลข 3 ตำแหน่ง เช่น 304 หรือ 306 เป็นต้น บางประเทศเรียกสเตนเลสตามมาตรฐานของญี่ปุ่น อังกฤษ และออสเตรเลีย แต่เนื่องจากมีเกรดที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่โดยการเพิ่มโลหะผสมเข้าไป ดังนั้นมาตรฐานที่กำหนดใช้ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอที่จะรองรับ จึงมีการเพิ่มตัวอักษรต่อท้ายเพื่อระบุส่วนผสมเฉพาะ เช่น 304L, 316LN หรืแ 310S

UNS ใช้กำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมจากระบบ AISI อักษรตัวแรก S หมายถึง สเตนเลสทั่วไปและการหล่อ (Wrought stainless steel for cast) ตามด้วยตัวเลข 5 ตำแหน่ง เช่น เกรด 304 ตามมาตรฐาน AISI เรียกในระบบ UNS เป็น UNS S30400, เกรด 304L คือ S30403 เป็นต้น

มาตรฐานที่ใช้ในประเทศแถวยุโรป มีต้นกำเนิดจากมาตรฐานตัวเลขเยอรมัน Werkstoffตัวอย่างเช่น 1.4301 คือเกรด 304 หรือมาตรฐานกำหนดชื่อตาม DNI ตัวอย่างเช่น X 5 Cr Ni 18 9 เทียบได้กับเกรด 304 ซึ่งการกำหนดชื่อแบบหลังนี้ใช้กันมากในประเทศแถบยุโรป ปัจจุบันมีการกำหนดมาตรฐานยุโรปขึ้นมาใช้แทนมาตรฐานเฉพาะของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป

การกำหนดชื่อเรียกตามสิทธิบัตร ใช้เรียกชื่อตามบริษัทผู้ผลิต แต่จะใช้กำหนดมาตรฐานต่อเมื่อได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และบริษัทผู้ผลิตยืนยันที่จะใช้ตัวอย่างเช่น 253MA ผลิตภัณฑ์เครื่องหมายการค้าของบริษัท AvestaPolaritเทียบได้กับเกรด UNS S30815 และ SAF2304 ผลิตภัณฑ์เครื่องหมายการค้าของบริษัท Sandvikเทียบได้กับเกรด UNS S32305 เป็นต้น

 
 

การที่ผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้า จะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุในการประกอบชิ้นงานหรือแม้กระทั่งผู้บริโภคเองที่จะเลือกซื้อวัสดุมาใช้ในบ้าน เราควรที่จะศึกษาก่อนว่าคุณสมบัติอะไรที่เราต้องการใช้งาน เช่นเดียวกันกับการเลือกซื้อ เลือกใช้สเตนเลส เราควรทราบว่าใช้สเตนเลสแล้วดีอย่างไร

ทนทานต่อการกัดกร่อน
สเตนเลสทุกเกรดมีความทนทานต่อการกัดกร่อนสูง แต่จะแตกต่างกันไปตามส่วนผสมของโลหะ เช่น เกรดที่มีโลหะผสมไม่สูง สามารถต้านทานการกัดกร่อนในบรรยากาศทั่วไป ในขณะที่เกรดที่มีโลหะผสมสูงสามารถต้านทานการกัดกร่อนในกรด ด่าง สารละลาย บรรยากาศ คลอไรด์ ได้เกือบทั้งหมด

ง่ายต่อการบำรุงรักษาและทำความสะอาด
สเตนเลสทำความสะอาดได้ง่าย และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา หรือเสียเวลากับการที่จะต้องมาทาสีใหม่

ความต้านทานต่ออุณหภูมิสูงและอุณหภูมิต่ำ
สเตนเลสสามารถทนความร้อน ความเย็น และการเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลันได้ดี และด้วยคุณสมบัติพิเศษในการทนไฟ ทำให้มีการนำสเตนเลสไปใช้ในอุตสาหรกรรมขนส่ง

ง่ายต่องานประกอบหรือแปรรูป
สเตนเลสส่วนใหญ่สามารถตัด เชื่อม ขึ้นรูป ตกแต่งทางกล ลากขึ้นรูป ขึ้นรูปนูนต่ำได้ง่าย ด้วยรูปร่าง สมบัติ และลักษณะต่าง ๆ ของสเตนเลส ช่วยให้ผู้ผลิต นักออกแบบ หรือผู้ใช้สามารถนำสเตนเลสไปประกอบกับวัสดุอื่น ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้กับสเตนเลส หรือโครงสร้างภายนอกอาคารที่ใช้สเตนเลสยึดกับกระจก ล้วนแต่พบเห็นได้ทั้งนั้น

ความคงทน
คุณสมบัติเด่นอีกประการหนึ่งของสเตนเลส คือ ความแข็งแกร่ง ทนทาน สเตนเลสสามารถเพิ่มความคงทนได้ด้วยการขึ้นรูปเย็น ใช้ในกรณีที่ต้องการลดความหนา ลดน้ำหนัก และประหยัดราคา สเตนเลสบางเกรดอาจใช้ในงานที่ทนความร้อนและยังคงความทนทานสูง

ความสวยงาม
นอกจากพื้นผิวที่หลากหลายรูปแบบที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นผิวกระจก ผิวลายล้อรถยนต์ ผิวลายขนแมวแล้ว สเตนเลสยังมีสีพิ้นผิวให้เลือกมากมาย เช่น สีทอง บรอนซ์ เขียว เงิน และสีดำ เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้สามารถประยุกต์ใช้สเตนเลสได้อย่างมากมาย นอกจากนี้ความเงางามของตัวสเตนเลสเอง หากนำไปหุ้มเสาภายในอาคาร ตกแต่งบานประตูลิฟท์ อุปกรณ์ประกอบอาหาร หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ก็ทำให้บ้านดูสวยงาม สะอาดและน่าอยู่อีกด้วย

ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สเตนเลสเป็นวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบ 100% และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
เหตุผลสำคัญที่สเตนเลสถูกนำมาใช้งานในงานโรงพยาบาล ด้านโภชนาการ และด้านเภสัชกรรม เป็นเพราะสเตนเลสมีความทนทาน ต้องการการดูแลรักษาน้อย ค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาการใช้งาน และสเตนเลสเป็นโลหะที่มีความเป็นกลาง ไม่ดูดซึมรสใด ๆ ทนต่อกรด ด่างและความร้อนได้ดีเยี่ยม การใช้อุปกรณ์เครื่องครัวสเตนเลสในบ้านเรือน หรืออาหารกระป๋องที่บรรจุในกระป๋องสเตนเลสจึงให้ความรู้สึกถึงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้


ไม่ว่าจะต้องการความสวยงาม ความทนทาน อายุการใช้งานที่ยาวนาน ง่ายต่อการประกอบ ใช้ในที่อุณหภูมิสูงมากหรือต่ำมาก ปลอดภัยต่อสุขภาพ มีความต้านทานการกัดกร่อนสูง เงางาม มีสีให้เลือกหลากหลาย สเตนเลสน่าจะเป็นวัสดุที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ทั้งหมด

 

นอกจากสเตนเลสจะมีความแข็งแรง ทนแรงกระแทก รอยขีดข่วน หรือรอยเปื้อนต่าง ๆ ได้ดีและไม่แตกหักแล้ว พื้นผิวของสเตนเลสที่มีแบบให้เลือกมากมาย ทั้งชนิดเงาเหมือนกระจกแบบด้าน แบบเรียบ หรือลายนูนและลวดลายอื่น ๆ ที่หลากหลาย นอกจากนั้นสเตนเลสสามารถใช้ร่วมกับวัสดุอื่น ๆ หรือใช้สเตนเลสผิวต่างกันในงานเดียวกันก็ทำได้ ผิวต่าง ๆ ของสเตนเลสให้ความรู้สึกถึงความทันสมัยสง่างามด้วยเนื้อโลหะสเตนเลส และยังดูสะอาดอีกด้วย

2D
ผิวด้านไม่เงา ผบิตโดยวิธีการรีดเย็นจากโรงงาน ตามด้วยการอบอ่อนและขจัดคราบออกไซด์
2B
ผิวเงาปานกลาง ผลิตโดยวิธีการรีดเย็น แล้วอบอ่อนเพื่อขจัดคราบออกไซด์ และนำไปรีดเบา ๆ ผ่านไปยังลูกกลิ้งขัด
BA
ผิวอบอ่อนเงาจะมีเงากระจกสะท้อน ผิวเงาที่เห็นจะเป็นการขัดผิวด้วยลูกกลิ้งขัดผิว หรือเจียรผิวตามเกรดที่ต้องการ ผิวอบอ่อนเงาส่วนมากจะใช้กับงานสถาปัตยกรรมที่ต้องการผิวสะท้อน ผิวอบอ่อนสีน้ำนมจะไม่สะท้อนแสงเหมือนกับ No.8 จะใช้กับงานที่เป็นชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม ภาชนะในครัว อุปกรณ์ในกระบวนการผลิตอาหาร
No.4
ผิว No.4 สามารถใช้งานได้ทั่วไป เช่นร้านอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว อุปกรณ์รีดนม จะเริ่มต้นด้วยการเจียรหยาบ และจะเจียรครั้งสุดท้ายด้วยขนาดเม็ดขัดประมาณ 120 – 150 เมสฮ์ อาจเรียก 2J หรือ 2K ตามหลักมาตรฐานยุโรป (EN10088)
No.8
ผิว No.8 ส่วนมากจะเป็นผิวเงาสะท้อนคล้ายกระจกเงาใสปิ๊ง เงามากกว่าผิว BA โดยทั่วไปจะเรียกว่า mirror ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นสเตนเลสชนิดแผ่ โดยผิวจะถูกขัดด้วยเครื่องขัดละเอียด นำไปใช้กับงานตกแต่งทางด้านสถาปัตยกรรม อาจเรียก 2P ตามหลักมาตรฐานยุโรป (EN10088)

 

ตกแต่งผิวสเตนเลสได้อย่างไร

บางครั้งผู้ประกอบการสเตนเลสหรือนักออกแบบต้องการที่จะอธิบายให้ลูกค้าฟังถึงความแตกต่าง เช่น ลูกค้าไม่ต้องการสเตนเลสผิวธรรมดา แต่อยากเปลี่ยนเป็นแบบผิวสีดำ หรือว่าอยากซื้อผิวแบบอื่น ๆ นากจากผิวมันวาวของ BA คำอธิบายต่อไปนี้อาจช่วยในการเข้าใจผิวต่าง ๆ ของสเตนเลสได้มากขึ้น

การตกแต่งผิวด้วยการเจียร (Grinding)
การตกแต่งผิวสเตนเลสด้วยวิธีการเจียรเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน อาจใช้กระดาษทรายหรือลูกรีดขัดหรือรีดบนสเตนเลส รอยเจียรที่หยาบจะเหมือนรายกัดจากเครื่องกัดที่จะเอาโลหะส่วนเกินออก จากรอยเชื่อมจากการตีขึ้นรูปร้อน ทางวิ่งและรูเทในงานหล่อ

การตกแต่งผิวด้วยการขัดเงา (Polishing)
เป็นการขัดเงามันด้วยหัวเจียรหินขัด การขัดเงาที่ระดับ No.4 ขนาดของกริท (#400) จะได้ผิวที่เป็นเส้น ๆ ถ้าต้องการผิวเรียบจะใช้วิธีการขัดเงาด้วยกริท No.8 (#800) หากต้องการรอยขัดเงาที่หยาบจะใช้เวลาในการขัดเงาน้อย

การตกแต่งผิวด้วยการขัด (Buffing)
เป็นวิธีการตกตแงผิวสเตนเลสอีกวิธีหนึ่งที่อาจใช้มือขัดหรือใช้อุปกรณ์ขัดผิวสเตนเลสก็ได้ การขัดจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกจะเป็นการขัดผิวสเตนเลส ส่วนขั้นตอนที่สอง เป็นขั้นตอนการขัดสี

การตกแต่งผิวด้วยการเสียดสี (Tumbling)
วิธีการนี้นิยมใช้กับสเตนเลสที่เป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก โดยการใส่สเตนเลส ผงขัด และลูกยางขัด ลงในถังหมุนเพื่อให้ผงขัดเสียดสีกัดคราบและสิ่งสกปรกออกด้วยความเร็วคงที่

การตกแต่งผิวด้วยการทำสี (Painting)
ก่อนทำสีจะต้องทำผิวสเตนเลสให้หยาบขึ้นด้วยการกัดกรด หรือพ่นด้วยเม็ดแก้ว สารเคมีที่ใช้ในการกัดกรด คือ กรดไฮโดรครอริค หรือกรดไฮโดรฟฟลูออริค เช่น สเตนเลสที่ถูกตกแต่งผิวในระดับ 2D หรือ 2B แต่ถ้า 2B ผ่านการขัดด้วยสก๊อตไบร์ทม จะทำให้สีเคลือบติดได้ค่อนข้างดี

การกัดผิวด้วยกรดและการพ่นด้วยเม็ดแก้ว หรือเม็ดทราย (Etching/ Grass bead/ Blasting)
เป็นวิธีการกัดผิวสเตนเลสด้วยเม็ดแก้วหรือเม็ดทราย แล้วตามด้วยการกัดผิวด้วสารเคมี จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างลักษณะของผิวที่ต้องการ โดยปิดบริเวณที่ต้องการเล่นสีหรือลาย หรือสร้างรูปจากสติ๊กเกอร์หรือเทปกาว ให้มีความแตกต่าง เช่น การสะท้อนของแสงสว่าง ความแตกต่างของสี และลวดลาย

การทำผิวสีดำ (Blackening)
ผิวของสเตนเลสสามารถที่จะทำให้เป็นสีดำได้ โดจุ่มลงในสารละลายเกลือโซเดียมไดโครเมทซ์ ซึ่งทำให้เกิดฟิล์มออกไซด์สีดำบางที่ผิวของสเตนเลส ผิวดำที่ได้จะเป็นสีดำด้านและสามารถทำให้เป็นสีดำเงาได้โดยการใช้น้ำมันหรือขี้ผึ้ง ฟิล์มนี้จะมีแนวโน้นอายุการใช้งานนาน โดยสีจะไม่จาง มีความเหนียวหลุดลอกได้ยาก วิธีการนี้นิยมใช้กันมากในการสร้างผิวสีดำให้กับชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์ทั่วไปเช่น ที่ปัดน้ำฝน หรือแผงรับพลังความร้อน และเขาตั้งเตาแก๊สสามขา การสร้างสีดำบนสเตนเลสสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการชุบเคลือบโครเมียมอีกด้วย

การสร้างสี (Coloring)
วิธีการนี้เป็นการสร้างสีผิวสเตนเลส โดยการจุ่มในสารละลายกรดโครมิค/ ซัลฟูลิค และทำการปรับปรุงความแข็งด้วยกรดชนิดอื่น ปฏิกริยาในการจุ่มสเตนเลสลงในกรดร้อนจะทำให้เกิดฟิล์มโปร่งใสบาง ๆ ขึ้นเอง ปราศจากสี แต่จะมีลักษณะการเหลื่อมแสง ปกติจะเป็นสีบรอนซ์และภายในจะพบมีช่วงเงาสีต่าง ๆ สีดำก็สามารถทำได้ ลักษณะของสีที่ปรากฏขึ้นอู่กับธรรมชาติของผิวสีที่เริ่มต้น เช่น ผิวด้าน จะทำให้ผิวทีได้เป็นสีด้าน ผิวขัดมันจะได้ผิวสีที่มีความเงาวาว

การขัดเงาด้วยไฟฟ้าเคมี (Electro polishing)
การขัดเงาด้วยวิธีการทางไฟฟ้าแคมีเป็นการตกแต่งผิวสเตนเลส โดยการกัดชั้นผิวบาง ๆ ออก ชิ้นงานจะถูกต่อไว้เป็นขั้วบวกในสารละลายเคมีไฟฟ้า

 

การทำความสะอาดสเตนเลสอย่างง่าย ๆ

เมื่อใช้อุปกรณ์ เครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของใด ๆ ก็ตามมักจะเกิดรอยคราบ รอยสกปรกติดอยู่ สเตนเลสก็เหมือนวัสดุทั่วไปที่เมื่อนำมาใช้จะเกิดคราบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคราบอาหาร คราบนิ้วมือ คราบตกค้างจากสารทำความสะอาด หรือการใช้สเตนเลสในสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เช่น แถบพื้นที่ชายฝั่งทะเล สิ่งเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดคราบสกปรก ความหม่นของผิว หรือการกัดกร่อน ดังนั้นการจะทำความสะอาดสเตนเลสควรคำนึงถึง

1. ต้นเหตุของการเกิดคราบหรือรอยสปรก
2. อุปกรณ์ทำความสะอาด
3. สารทำความสะอาด
4. สภาพแวดล้อม

รอยเปื้อนที่เกิดจากฝุ่นผง ดิน รอยนิ้วมือ เพียงแค่ใช้ฟองน้ำชุบน้ำอุ่น หรือผงซักฟอก หรือสบู่ละลายกับน้ำอุ่น เช็ดบริเวณรอยเปื้อนแล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าธรรมดา

หากคราบสกปรกยังติดอยู่ อาจใช้น้ำอุ่นผสมสารละลาย เช่น แอลกอฮอลล์ หรือ อาเซโตน ล้างออกด้วยน้ำเย็น และเช็ดให้แห้ง

รอยนิ้วมือที่ติดมานาน ก่อนทำความสะอาดควรสวมถุงมือ เพราะต้องใช้โซดาไฟและถูด้วยแผ่นยางเบา ๆ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดหลังจากนั้นล้างด้วยน้ำอุ่น ทางที่ดีควรเช็ดให้แห้งด้วย

คราบชาและกาแฟ หากใช้ถ้วยสเตนเลส หรือบางบ้านใช้หม้อสเตนเลสต้มชา หรือแม้กระทั่งหม้อต้มกาแฟสเตนเลส เมื่อใช้ไปนาน ๆ แล้วไม่ทำความสะอาดให้ดี อาจเกิดรอยคราบของชาหรือกาแฟ ขอแนะนำให้ล้างภาชนะหรือหม้อต้มด้วยโซดาไบคาร์บอเนตกับน้ำ แล้วล้างออกอีกครั้งด้วยน้ำสบู่ จากนั้นล้างให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น ขั้นตอนสุดท้ายก็เช็ดให้แห้ง

คราบน้ำมะนาวหรือน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด จุ่มสเตนเลสลงในน้ำส้มสายชูเจือจาง 25% ล้างให้สะอาด ล้างออกด้วยน้ำสบู่และน้ำ และล้างด้วยน้ำอุ่นอีกครั้ง เช็ดให้แห้ง

หากยังไม่สะอาดพอ อาจจะใช้กรดไนตริกผสมกับน้ำในอัตราส่วน 15 ต่อ 85 ราดบนผลิตภัณฑ์หรือบนอุปกรณ์สเตนเลสที่มีคราบเปื้อน หลังจากนั้นล้างให้สะอาดด้วยน้ำ ทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออกด้วยน้ำสบู่ แล้วจึงล้างด้วยน้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสะอาด แล้วจึงเช็ดให้แห้ง

สิ่งสกปรกจากโรงงาน เช่น จารบี น้ำมัน ฝุ่นผง เศษโลหะเล็ก ๆ จากการกัด ไส กลึง ด้วยเครื่องจักร กระบวนการประกอบ น้ำมันหล่อลื่นชนิดที่มีฤทธิ์เป็นด่างและไม่มีฤทธิ์เป็นด่าง กราไฟท์ โมลิบดินัม ซิลิกา

น้ำมัน คราบมัน และ จาระบี เมื่อเกิดรอยเปื้อนจากคราบน้ำมัน หรือจาระบี ให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดบริเวณรอยเปื้อนหรือจุ่มสเตนเลสลงในแอลกอฮอล์ แล้วล้างน้ำอุ่นผสมกับสบู่หรือผงซักฟอก หลังจากนั้นล้างออกด้วยน้ำ และเช็ดให้แห้ง

สิ่งสกปรกที่แข็งติด และสีของผิวสเตนเลสเปลี่ยนเนื่องจากความร้อน ทาครีม หรือผงขัด (เช่น บัรสโซ) ลงบนชิ้นงานแล้วขัดคราบที่ติดบนชิ้นงานไปในทิศทางเดียวกันกับโครงสร้างของผิว ล้างด้วยน้ำเย็นและเช็ดให้แห้ง หรือล้างด้วยสารละลายของกรดฟอสสเฟอร์ริก และล้างด้วยสารละลายแอมโมเนีย แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำ และเช็ดจนแห้ง

เปื้อนสี หรือสิ่งสกปรกที่ติดแน่นมาก ถ้าสเตนเลสที่เกิดเปื้อนสี อาจจะเป็นสีทาบ้าน แล้วกระเด็นมาโดน เป็นต้น ของแนะนำให้ใช้ฟองน้ำหมาด ๆ จุ่มผงขัด ถูตรงรอยเปื้อนไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ควรถูไป ๆ มา ๆ เสร็จแล้วล้างด้วยน้ำ และเช็ดให้แห้ง หรือจะล้างด้วยสารละลายสี โดยใช้แปรงไนลอนนุ่ม ๆ ถูบริเวณที่เกิดรอยเปื้อนเบา ๆ จนคราบหลุดออก แล้วล้างออกด้วยน้ำหลังจากนั้นก็เช็ดให้แห้ง

ป้าย และสติ๊กเกอร์ จุ่มชิ้นงานสเตนเลสลงในน้ำสบู่อุ่น ๆ เพื่อลอกเอาป้ายออก จากนั้นล้างให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น เช็ดให้แห้งด้วยผ้า หากยังไม่ออกให้ถูกาวออกด้วยเบนซิน ล้างด้วยน้ำสบู่ และล้างด้วยน้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีคราบน้ำมันเบนซินติดอยู่ แล้วเช็ดให้แห้ง

รอยครูดกับพื้น หรือรอยแปรงขัด บางคนเข้าใจผิด คิดว่าทำความสะอาดด้วยแปรงขัดลวด แล้วคราบต่าง ๆ จะหมดไป โดเฉพาะอุปกรณ์เครื่องครัว จึงทำให้อุปกรณ์เต็มไปด้วยรอยมากมาย ต้องจำไว้เลยว่า ห้ามใช้แปรงเหล็ก หรือฝอยเหล็กที่ทำจากเหล็กกล้าคาร์บอน เมื่อมีรอยเปื้อนประเภทนี้เกิดขึ้น ให้ขัดด้วยลูกล้อขัดในไปในทิศทางเดียวกัน ล้างด้วยน้ำผสมสบู่ หรือผงซักฟอก ตามด้วยน้ำสะอาดจนกว่าจะหมดคราบ และเช็ดแห้ง
ข้อควรระวัง ในการใช้ลูกล้อขัดก็คือ วิธีการนี้จะไม่ใช้กับผิวสเตนเลส 2B หรือ 2D หรือผิวงานสำหรับตกแต่ง

คราบสนิม จุ่มผลิตภัณฑ์สเตนเลสลงในน้ำอุ่นที่มีส่วนผสมสารละลายกรดไนตริกในอัตราส่วน 9 ต่อ 1 ประมาณ 30 – 60 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำหลาย ๆ ครั้งจนสะอาด จากนั้นต้องเช็ดให้แห้ง
กรณีคราบสนิมติดแน่น จำเป็นจะต้องล้างผิวสเตนเลสด้วยสารละลายกรดออกชาลิค อย่าลืมสวมถุงมือ และทิ้งผลิตภัณฑ์สเตนเลสนั้นไว้ประมาณ 20 นาที จึงล้างออกด้วยน้ำและเช็ดให้แห้ง

สีรุ้งที่กาต้มน้ำ หากกาต้มน้ำที่ใช้ได้ซักระยะหนึ่งเกิดปรากฎลักษณะสีรุ้งที่กาต้มน้ำ สามารถทำความสะอาดได้ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดผิวสเตนเลส ลักษณะดังกล่าวนี้เกิดจากการให้ความร้อนสูงเกินไปหรือปล่อยให้กระทะเดือดจนแห้ง จะทำให้เกิดลักษณะสีรุ้งบนผิวของสเตนเลส ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

เกิดจุดขาว ๆ ภายในกาต้มน้ำ เมื่อใช้กาต้มน้ำไปนาน ๆ จะเกิดจุดขาว ๆ ภายในกาต้มน้ำซึ่งไม่สามารถขจัดออกได้ด้วยวิธีทำความสะอาดแบบปกติ จุดขาว ๆ นั้นเกิดจากตระกรันคาร์บอเนตที่เกิดจากการต้มน้ำกระด้างที่ประกอบด้วยเกลือแคลเซียมและแมกนีเซียมซึ่งละลายในน้ำ และวิธีการขจัดตระกรันให้ใช้น้ำส้มสายชู แต่ถ้าคราบติดแน่นมากให้ผสมกับน้ำส้มสายชู แล้วต้มให้เดือดประมาณ 10 -15 นาทีค่อยเช็ดทำความสะอาดคราบ

คราบสีดำหรือเหลืองที่เกิดจากเตาแก๊ส
ลองแช่ภาชนะนั้นในน้ำร้อนที่ผสมน้ำยาล้างจานแล้วล้างทำความสะอาด และหากยังไม่สามารถขจัดคราบได้ให้ลองใส่น้ำเกลือแล้วต้มจนเดือด นำมาเช็ดทำความสะอาด อาจทำให้คราบที่เกิดหลุดออกมาได้
ถ้าหากคราบนั้นยังไม่หลุด ให้ใช้ผงขัดโดยวิธีการขัดเบา ๆ หรือแผ่นขัดที่ไม่ใช่โลหะ หรือแผ่นขัดสำหรับผิวสเตนเลส ในการขจัดคราบฝังแน่น ซึ่งอาจทำให้เกิดดารขูดผิวภาขนะได้ ถ้าเกิดปรากฏรอยหลังการขัดผิวอย่างชัดเจน ให้ลองขัดซ้ำไปในทิศทางเดียวกับที่รอยปรากฏเพื่อกลบเกลื่อนรอยเสียหายบนผิวของชิ้นงาน

สิ่งที่ควรทำ
บางครั้งอาจไม่มีเวลาได้ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หากวันใดสังเกตเห็นคราบ หรือฝุ่นละอองใด ๆ บนอุปกณ์หรือผลิตภัณฑ์สเตนเลสควรจะรีบทำความสะอาดทันที
หากใช้อุปกรณ์เครื่องครัวเป็นสเตนเลส ควรล้างน้ำอุ่นเพื่อขจัดคราบความมันออกก่อนแล้วค่อยล้างด้วยน้ำยาล้างจานและน้ำตามขั้นตอนปกติ
หากจำเป้นที่จะต้องใช้กดกัดทำความสะอาดสเตนเลส ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และสวมถุงมือป้องกันทุกครั้ง
ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ทำมาจากเหล็ก หรือใช้ทำความสะอาดชิ้นส่วนเหล็กกล้าคาร์บอนมีคราบ / สนิมเหล็กติดมาด้วยหรือไม่ ถ้ามีควรทำความสะอาดให้ดี
การทำความสะอาดสเตนเลส 2 ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญและไม่ควรลืมเป็นอย่างยิ่ง คือการล้างด้วยน้ำจนสะอาด และเช็ดให้แห้งด้วยผ้า

สิ่งที่ไม่ควรทำ
ไม่ควรเคลือบผิวสเตนเลสด้วยแว็กซ์ หรือวัสดุที่ผสมน้ำมัน เพราะจะทำให้เกิดคราบสกปรก หรือฝุ่นละอองติดบนพื้นผิวสเตนเลสได้ และทำให้ล้างทำความสะอาดออกได้ยาก
ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบของคลอไรด์ และฮาไลด์ เช่น โบรไมน์ ไอโอดีน และ ฟลูออรีน
ไม่ควรใช้ย่าฆ่าเชื้อในการทำความสะอาดชิ้นงานสเตนเลส
ไม่ควรใช้กรดไฮโดรริก (HCI) ในการทำความสะอาดเพราะจะก่อให้เกิดการกัดกร่อนแบบรูเข็ม และการแตกบนพื้นผิวของสเตนเลส
ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เราไม่แน่ใจว่ามีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง แล้วจะเหมาะสมกับการใช้ขจัดคราบสกปรกประเภทไหน
ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำความสะอาดเครื่องเงิน มาทำความสะอาดสเตนเลส
ไม่ควรใช้สบู่ หรือผงซักฟอกมากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวสเตนเลสมันและหมอง
ห้ามนำเอาเม็ดโลหะหรือทรายที่เคยใช้พ่นทำความสะอาดเหล็กกล้าคาร์บอนมาใช้ร่วมกันกับสเตนเลส
ห้ามใช้กรดไฮโดรลิคขจัดปูนฉาบ หรือ ซีเมนต์ที่ติดเปื้อนผิวสเตนเลสให้ใช้น้ำล้างปูนฉาบก่อนที่จะแห้ง

Go to top
 
หน้าแรก | สินค้า | ใบเสนอราคา | กลุ่มผู้ใช้สแตนเลส | ความรู้เกี่ยวกับสแตนเลส | ข้อมูลบริษัท | สมัครงาน | ติดต่อบริษัท | คำถามที่พบบ่อย
 
Copyright © 2010 Lert Siam Steel Co., Ltd. - All rights reserved.